วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การสื่อสารทางการพูดและการเขียน

    การติดต่อสื่อสารเป็นกระบวนการรับและการถ่ายทอดข้อมูล หรือเนื้อหาสาระต่างๆที่บุคคลต้องการหรือเกี่ยวข้องกัน จากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง เพื่อสร้างความเข้าใจ ชักจูงใจ มุ่งให้ความรู้ตามที่ประสงค์ ซึ่งการสื่อสารที่ดีสามารถทำให้เกิดการร่วมแรงร่วมกันใจ เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานและสังคม
....วิธีการสื่อสาร มีหลายวิธีด้วยกัน ดังนี้
    1. การสื่อสารด้วยวาจา (ภาษาพูด)--> คือการพูดเป็นประโยค มีจังหวะจะโคน น้ำเสียงมีทั้งเบาและ
ค่อย มีความเร็วหรือช้าของการพูด
    2. การสื่อสารด้วยกริยาท่าทาง (ภาษากาย)--> เช่น การกลอกตา การจ้องตา การพยักหน้า การก้มโค้ง การแสดงออกทางสีหน้า การสัมผัสและการใช้มือ
    3. การสื่อสารด้วยลายลักษณ์อักษร (ภาษาเขียน)--> ได้แก่ สัญลักษณ์ และรูปภาพต่างๆ
    การจะเลือกวิธีการสื่อสารนี้มีปัจจัยเกี่ยวข้องอีกมากมาย ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับผู้สื่อ และผู้รับสื่อตลอดจนเหตุการณ์แวดล้อมต่างๆที่เกี่ยวข้องอีกด้วย และเมื่อมีการส่งสารแล้วยังต้องสังเกตปฏิกิริยาย้อนกลับของผู้รับ เพื่อที่จะทำให้ทราบว่าข่าวสารที่ส่งไปนั้นบรรลุเป้าหมายเพียงใด ปฏิกิริยาย้อนกลับนี้อาจมีทั้งพอใจ ไม่พอใจ หรือความเข้าใจมากน้อยเพียงใดอีกด้วย

  การสื่อสารทางการพูด  
การพูดเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งในชีวิตประจำวันการพูดเป็นทักษะหลักในการสื่อสาร การถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก หรือความต้องการ ด้วยเสียง ภาษา และกิริยาท่าทาง เพื่อให้ผู้ฟังรับรู้ เข้าใจได้ตรงตามจุดประสงค์ของผู้พูด 
.....ทักษะการเป็นผู้พูดที่ดี  >> ผู้พูดเป็นผู้ที่จะต้องถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดเห็น ข้อเท็จจริง ตลอดจนทัศนคติของตนซึ่งเกิดจากการสะสมความรู้ ความคิดและประสบการณ์ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ แล้วรวบรวม เรียบเรียง ความรู้ความคิดเหล่านี้ให้มีระเบียบ เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดให้ผู้ฟังได้โดยง่าย โดยใช้ภาษา เสียง อากัปกิริยาและบุคลิกภาพของตนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผู้พูดจะต้องคำนึงถึงมารยาทและคุณธรรมในการพูดด้วย.....


  การสื่อสารทางการเขียน  
การเขียนเป็นระบบการสื่อสารอย่างหนึ่ง หรือบันทึกถ่ายทอดภาษาเพื่อแสดงออกซึ่งความรู้ ความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ โดยใช้ตัวหนังสือและเครื่องหมายต่างๆเป็นสื่อ
.....ทักษะการใช้ภาษาเขียนที่ดี >> ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้จากการฟัง การพูด และการอ่าน เพราะจะทำให้มีความรู้ มีข้อมูล และมีประสบการณ์เพียงพอที่จะทำให้เกิดความคิด ความสามารถในการเรียบเรียงและถ่ายทอดความคิดออกมาสื่อสารให้กับผู้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ.....



การสื่อสารทั้งทางการพูดและการเขียน มีบทบาทสำคัญ
ต่อการวิจัยอย่างไร??

   ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยวิธีใดก็ตาม ล้วนแต่มีความสำคัญต่ออาชีพ หน้าที่การงาน ในทุกสาขาอาชีพ เนื่องจากการสื่อสารเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนข้อมูล เนื้อหาสาระต่างๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และมีประสิทธิภาพต่อองค์ หน่วงงานนั้นๆได้....แต่ถ้าพูดในแง่ทางการศึกษา ในฐานะที่ข้าพเจ้ากำลังเรียนทางการศึกษา และว่าที่นักการศึกษาในอนาคต สิ่งที่ต้องเจอและหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการทำวิจัยหรือการเป็นนักวิจัย การวิจัยหนึ่งๆ มีขั้นตอนต่างๆที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการหรือตั้งเป้าหมายไว้ เริ่มตั้งแต่...
1.การเขียนโครงร่างงานวิจัย เราต้องมีการสื่อสารทางการเขียน และต้องเขียนถ่ายทอดออกมาผ่านตัวหนังสือให้ผู้อ่านเข้าใจ ตรงตามผู้เขียน ซึ่งควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
     1.1 ความถูกต้อง คือ ข้อมูลถูกต้อง ใช้ภาษาที่ถูกต้องเหมาะสมตามกาลเทศะ
     1.2 มีความชัดเจน คือ ใช้คำ ประโยค สำนวน ที่มีความหมายชัดเจน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ตรง  ตามจุดประสงค์
     1.3 มีความไพเราะทางภาษา คือ ใช้ภาษาสุภาพ มีความประณีตทั้งสำนวนภาษาและเนื้อหา
     1.4 มีความกระชับและเรียบง่าย คือ รู้จักเลือกถ้อยคำที่เข้าใจง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย เพื่อให้ได้ใจความชัดเจน

2. การนำเสนองานวิจัย นี่ก็เป็นการสื่อสารทางการพูด จะพูดอย่างไรให้น่าสนใจ ผู้ฟังมีความสนใจ เข้าใจ ในสิ่งที่เรานำเสนอ ซึ่งลักษณะการพูดที่ดีควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้  
     2.1 ใช้ถ้อยคำดี คือ พูดด้วยถ้อยคำที่เป็นจริง  มีประโยชน์  และเป็นที่พอใจแก่ผู้ฟัง 
      2.2 มีบุคลิกลักษณะดี  คือ ต้องใช้น้ำเสียง  ภาษา  สายตา  ท่าทาง  และกิริยาอาการต่าง ๆ  ให้เป็นไปตามธรรมชาติ  สอดคล้องกับเนื้อหาของเรื่องที่พูด 
      2.3 เตรียมการพูด โดยศึกษาจุดประสงค์ หัวข้อ และเวลาในการพูด เพื่อรวบรวมความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะพูด เช่น หนังสือ เอกสาร และข้อมูลต่างๆ
     2.4 ลำดับความในการพูด เมื่อเตรียมเรื่องเเล้วนำมาลำดับความในการพูดให้เป็นขั้นตอน เปิดเรื่องด้วยข้อความที่เร้าความสนใจของผู้อื่น และมีการสรุปให้ผู้ฟังเข้าใจเเละให้ข้อคิด
     2.5 ฝึกพูดให้กระชับรัดกุม โดยใช้ถ้อยคำสั้นๆ เเต่มีความชัดเจน 

....จากข้อมูลข้างต้น การสื่อสารทางการพูดและการเขียน มีความสำคัญต่อการวิจัยเป็นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยให้งานของเรามีความสมบูรณ์ และเป็นการส่งเสริมงานวิจัยให้ดูมีคุณค่าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้ทำวิจัย(ผู้ส่งสาร) ควรตระหนักและให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะได้ความรู้จากการทำวิจัยแล้ว ยังเป็นการพัฒนาตนเองให้มีความเป็นมืออาชีพและเป็นที่ยอมรับของสังคมได้....และเมื่อทำได้ดี สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว ที่สามารถดึงดูดผู้ที่สนใจได้เป็นอย่างดีเลยล่ะค่ะ....



ที่มา:
http://www.trueplookpanya.com/true/
http://jelphyr.exteen.com/20060607/entry
http://www.secreta.doae.go.th/images/newtotal190.pdf